กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” | กระทู้ธรรมชั้นตรี ระดับประถม | สุภาษิตที่ ๑๑

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อ่านบาลีว่า:
กัน-ละ-ยา-นะ-กา-รี, กัน-ละ-ยา-นัง, ปา-ปะ-กา-รี, จะ, ปา-ปะ-กัง


ตัวอย่างแต่งกระทู้ธรรมชั้นตรี





อ่านแนวนำมาเขียนอธิบาย


กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

คำว่า ทำดี คือ การกระทำอันไม่มีโทษ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น มีแต่ประโยชน์ คือเป็นทั้งประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นไปเพื่อประโยชน์ในโลกนี้และในโลกหน้า

โดยธรรมดาบุคคลที่เป็นคนดี คือผู้ที่ทำความดีอยู่เป็นประจำ ย่อมสามารถที่จะทำความดีได้โดยง่าย เพราะเขาทำความดีอยู่ประจำ ทำจนชิน ทำจนเป็นนิสัย จิตใจย่อมจะยินดีในการสร้างความดีอยู่ตลอด

ทำดีได้ดี คือ ผลของการกระทำกรรมดี เช่น นักเรียนมีความตั้งใจ ขยันหมั่นเพียรในการเรียนหนังสือ ผลของการเรียนก็ย่อมเข้าใจในสิ่งที่เรียน และเมื่อถึงเวลาทดสอบวัดผลก็สามารถทำข้อสอบวิชานั้นได้ เป็นต้น

ทำชั่วได้ชั่ว คือ ผลของการกระทำกรรมชั่ว เช่น ทำตัวเป็นโจรไปปล้นจี้ฆ่าคนอื่นเพื่อหวังทรัพย์สินเงินทอง สุดท้ายก็ไปไม่รอด โดยตำรวจจับ ก็ต้องไปนอนรับใช้กรรมชั่วของตนในคุก หรือหากหนีไปได้ก็ต้องคอยระแวงภัยอันจะมีมาถึงตัวและต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ อย่างไม่มีความสุข นี้เป็นแค่ผลกรรมชั่วที่ต้องได้รับในชาตินี้เท่านั้น


สุภาษิตมาใน:
สังยุตตนิกาย สคถวรรค, ขุททกนิกาย ชาดก ทุกนิบาต
ตัวย่อสุภาษิต:
สํ.ส. ๑๕/๓๓๓, ขุ.ชา.ทุก.๒๗/๘๔