เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นตรี วิชาธรรมวิภาค ปีพ.ศ.๒๕๖๖
-
ธรรมมีอุปการะมากมีอะไรบ้าง ? ที่ว่ามีอุปการะมาก นั้นเพราะเหตุไร ?
ตอบ มี ๑. สติ ความระลึกได้ และ ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ฯ
เพราะว่าทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการทำกิจการงานใดๆ และเป็นอุปการะให้ธรรมเหล่าอื่นเกิดขึ้น. -
คนที่ทำอะไรมักพลั้งพลาด เพราะขาดธรรมอะไร ?
ตอบ เพราะขาดสติ ความระลึกได้ก่อนแต่จะทำและขาดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในขณะทำ ฯ -
โลกเดือดร้อนวุ่นวายในปัจจุบันนี้ เพราะขาดธรรมอะไร ?
ตอบ เพราะขาดธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง คือ
๑. หิริ ความละอายบาป
๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาป ฯ -
หิริและโอตตัปปะ ได้ชื่อว่าธรรมเป็นโลกบาลเพราะเหตุไร ?
ตอบ เพราะเป็นคุณธรรมทำบุคคลให้รังเกียจ และเกรงกลัวต่อบาปทุจริต ไม่กล้าทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ฯ -
พบงูพิษแล้วสดุ้งกลัวว่าจะถูกกัด จัดเป็นโอตตัปปะได้หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?
ตอบ ไม่ได้ ฯ เพราะโอตตัปปะ หมายความว่าความเกรงกลัวต่อบาป ฯ -
ในโลกนี้มีบุคคลประเภทใดบ้างที่พระพุทธศาสนาสอนว่าหาได้ยาก ?
ตอบ มี ๒ ประเภท คือ
๑) บุพพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
๒) กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและทำตอบแทนท่าน ฯ -
พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพพการีของพุทธบริษัอย่างไร ?
ตอบ พระพุทธเจ้าทรงกระทำอุปการะแก่พุทธบริษัทก่อน ด้วยการทรงแนะนำสั่งสอน ให้รู้ดีรู้ชอบตามพระองค์ เพื่อให้ได้บรรลุประโยชน์ ทั้ง ๓ คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน จึงชื่อว่าเป็นบุพพการี ฯ -
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ชื่อว่า รัตนะ เพราะเหตุไร ?
ตอบ เพราะเป็นของมีคุณค่าและหาได้ยาก เหมือนเพชรนิลจินดามีค่ามาก นำประโยชน์ และความสุขมาให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ ฯ -
รัตนะ ๓ อย่าง คืออะไรบ้าง ? รัตนะที่ ๒ มีคุณอย่างไร ?
ตอบ คือ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ฯ
ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ฯ -
พระพุทธเจ้า คือใคร ? ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์อย่างไร ?
ตอบ คือท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจตามพระธรรมวินัย ฯ
ทรงสั่งสอนเป็นอศัจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์โดยสมควรแก่ความปฏิบัติ ฯ -
ทุจริต คืออะไร ? พูดใส่ร้ายผู้อื่น จัดเข้าในทุจริตข้อไหน ?
ตอบ ทุจริต คือ ประพฤติชั่ว ประพฤติเสียหาย ฯ จัดเข้าในวจีทุจริต ฯ -
เห็นผิดจากคลองธรรม คือเห็นอย่างไร ? จัดเข้าในทุจริตข้อไหน ?
ตอบ คือเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มีบิดามารดาไม่มีพระคุณ เป็นต้น ฯ
จัดเข้าในมโนทุจริต ฯ -
มูลเหตุที่ทำให้บุคคลทำความชั่ว เรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?
ตอบ เรียกว่า อกุศลมูล หมายถึงรากเหง้าของอกุศล ฯ มี
๑. โลภะ อยากได้
๒. โทสะ คิดประทุษร้ายเขา
๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง ฯ -
อกุศลมูล เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราควรปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบ เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรละเสีย ด้วยทาน ศีล ภาวนา ฯ -
บุญกิริยาวัตถุ คืออะไร ? โดยย่อมีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?
ตอบ คือสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ ฯ มี ๓ ฯ คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ฯ -
ผู้ที่ทำงานไม่สำเร็จผลตามที่มุ่งหมายเพราะขาดคุณธรรมอะไรบ้าง ?
ตอบ เพราะขาดอิทธิบาท คือ คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง คือ
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น ฯ -
อริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ? ความไม่สบายกายไม่สบายใจ จัดเป็นอริยสัจข้อไหน ?
ตอบ มี ๑) ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
๓) นิโรธ ความดับทุกข์
๔) มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ฯ
ความไม่สบายกายไม่สบายใจจัดเป็นอริยสัจข้อ ๑ คือ ทุกข์ ฯ -
ทุกข์ในอริยสัจ ๔ คืออะไร ? เหตุให้เกิดทุกข์ คืออะไร ?
ตอบ ทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ฯ
เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหาความทะยานอยาก ฯ -
บุคคลผู้รักษาความยุติธรรมไว้ได้ ควรเว้นจากธรรมอะไร ? ธรรมนั้นมีอะไรบ้าง ?
ตอบ ควรเว้นจากอคติ ๔ ฯ มี
๑. ความลำเอียงเพราะรักใคร่กัน เรียกว่า ฉันทาคติ
๒. ความลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เรียกว่า โทสาคติ
๓. ความลำเอียงเพราะเขลา เรียกว่า โมหาคติ
๔. ความลำเอียงเพราะกลัว เรียกว่า ภยาคติ ฯ -
ธรรมอันเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีคืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?
ตอบ คือ นิวรณ์ ๕ ฯ มี
๑. กามฉันท์ พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น
๒. พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น
๓. ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านและรำคาญ
๕. วิจิกิจฉา ลังเลไม่ตกลงได้ ฯ -
ขันธ์ ๕ ได้แก่อะไรบ้าง ? สังขารขันธ์จัดเป็นรูปหรือนาม ?
ตอบ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์ ฯ
สังขารขันธ์ จัดเป็นนาม ฯ -
อานิสงส์แห่งการฟังธรรม มีอะไรบ้าง ?
ตอบ มี ๕ อย่าง คือ
๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส ฯ -
โลกธรรม ๘ คืออะไรบ้าง ? เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรพิจารณาอย่างไร ?
ตอบ คือ มีลาภ ๑ ไม่มีลาภ ๑ มียศ ๑ ไม่มียศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ฯ -
สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเจรจาอย่างไร ?
ตอบ คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ฯ -
มรรคมีองค์แปดจัดเข้าในสิกขา ๓ ได้หรือไม่ ? ถ้าได้จงจัดมาดู
ตอบ ได้ ฯ ดังนี้
สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ จัดเข้าในปัญญาสิกขา
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเข้าในสีลสิกขา
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเข้าในจิตตสิกขา ฯ -
การคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างไร ?
ตอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างนี้ คือ มักจะถูกคนชั่วชักจูง ไปในทางชั่ว เช่น คนไม่เคยเป็นนักเลงหญิง ไม่ติดสุรา ไม่เล่นการพนัน ไม่เป็นอันธพาล ก็ย่อมถูกชักจูงไปจนกลายเป็นนักเลงหญิงได้ เป็นต้น ฯ -
บุตรธิดาพึงปฏิบัติต่อมารดาบิดาอย่างไร ?
ตอบ พึงปฏิบัติอย่างนี้
๑. ท่านได้เลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
๒. ทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ฯ -
อบายมุข คืออะไร ? ดื่มน้ำเมามีโทษอย่างไรบ้าง ?
ตอบ อบายมุข คือ เหตุแห่งเครื่องฉิบหาย ฯ
ดื่มน้ำเมามีโทษ ๖ อย่างนี้ คือ
๑) เสียทรัพย์
๒) ก่อการทะเลาะวิวาท
๓) เกิดโรค
๔) ถูกติเตียน
๕) ไม่รู้จักอาย
๖) ทอนกำลังปัญญา ฯ -
ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นนิตย์ คือศีลอะไร ? ได้แก่อะไรบ้าง ?
ตอบ คือ ศีล ๕ ฯ ได้แก่
๑. เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากพูดเท็จ
๕. เว้นจากดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯ -
มิตรแท้ที่ควรคบ มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ?
ตอบ มิตรแท้ที่ควรคบ มี ๔ ประเภท ฯ คือ
๑. มิตรมีอุปการะ
๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
๓. มิตรแนะประโยชน์
๔. มิตรมีความรักใคร่ ฯ
Tags:
เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นตรี
เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นตรี 2566
เก็งข้อสอบวิชาธรรมชั้นตรี 2566
น.ธ.ชั้นตรี