-
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง ? เป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏ ฐานหรือของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ?
ตอบ มี เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทนฺตา ฟัน และตโจ หนัง ฯ
เป็นอารมณ์ได้ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ
-
ราคะ โลภะ อิสสา กลิ่น รส อย่างไหนเป็นกิเลสกาม อย่างไหนเป็นวัตุกาม ?
ตอบ ราคะ โลภะ อิสสา เป็นกิเลสกาม กลิ่น รส เป็นวัตถุกาม ฯ
-
ปฏิสันถาร มีอะไรบ้าง ? มีประโยชน์แก่ผู้ทำอย่างไรบ้าง ?
ตอบ ปฏิสันถาร มี ๒ คือ
๑) อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ
๒) ธัมมปฏิสันถาร ต้อนรับโดยธรรม ฯ
มีประโยชน์อย่างนี้ คือ
๑) เป็นอุบายสร้างความสามัคคีและยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน
๒) เป็นการรักษาไมตรีจิตระหว่างกันและกันให้มั่นคงยิ่งขึ้น ฯ
-
เจโตวิมุตติ กับ ปัญญาวิมุตติ ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ เจโตวิมุตติ เป็นวิมุตติของท่านผู้ได้บรรลุฌานมาก่อนแล้ว จึงบําเพ็ญวิปัสสนาต่อ
ปัญญาวิมุตติ เป็นวิมุตติของท่านผู้ได้บรรลุด้วยลําพังบําเพ็ญ วิปัสสนาล้วน
อีกนัยหนึ่ง เรียกเจโตวิมุตติเพราะพ้นจากราคะ เรียกปัญญาวิมุตติเพราะพ้นจากอวิชชา ฯ
-
พระอริยบุคคล ๘ จำพวก จำพวกไหนชื่อว่าพระเสขะ และพระอเสขะ ? เพราะเหตุไร ?
ตอบ พระอริยบุคคล ๗ เบื้องต้น ชื่อว่าพระเสขะ เพราะเป็นผู้ยังต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลเบื้องสูง ฯ
พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ชื่อว่าพระอเสขะ เพราะเสร็จกิจอันจะต้องทําแล้ว ฯ
-
ความตริ (ความคิด) ในฝ่ายชั่ว เรียกว่าอะไร ? มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
ตอบ ความตริ (ความคิด) ในฝ่ายชั่ว เรียกว่า อกุศลวิตก ฯ
มี ๓ อย่าง ฯ คือ
๑) กามวิตก ความตริในทางกาม
๒) พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท
๓) วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน ฯ
-
บุคคลผู้ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ทำด้วยเมตตา กรุณา เป็นต้น จัดเข้าในอธิปเตยยะข้อไหน ?
ตอบ จัดเข้าในธัมมาธิปเตยยะได้ ฯ
-
ญาณ ๓ ที่เป็นไปในทุกขสมุทัยมีอธิบายอย่างไร ?
ตอบ ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสมุทัย จัดเป็นสัจจญาณ
ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ควรละ จัดเป็นกิจจญาณ
ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ละได้แล้ว จัดเป็นกตญาณ ฯ
-
สังโยชน์คืออะไร ? พระโสดาบันละสังโยชน์อะไรได้ขาดบ้าง ?
ตอบ สังโยชน์ คือ กิเลสอันผูกใจสัตว์ไว้ ฯ
พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้น คือ
๑. สักกายทิฏฐิ
๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส ฯ
-
ปาฏิหาริย์คืออะไร ? พระพุทธเจ้าทรงยกย่องปาฏิหาริย์ อะไรว่าเป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์อื่น ?
ตอบ ปาฏิหาริย์ คือ การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ ฯ
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์อื่น
-
อุปาทาน คืออะไร ? การถือเราถือเขาด้วยอำนาจมานะ จนเป็นเหตุถือพวก จัดเป็นอุปาทานอะไร ในอุปาทาน ๔ ?
ตอบ อุปาทาน คือ การถือมั่นข้างเลว ได้แก่ถือรั้น ฯ
จัดเป็น อัตตวาทุปาทาน ฯ
-
กิเลส ชื่อว่า โอฆะ โยคะ และอาสวะ เพราะเหตุไร ?
ตอบ ชื่อว่า โอฆะ เพราะดุจเป็นกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์
ชื่อว่า โยคะ เพราะประกอบสัตวไว้ในภพ
ชื่อว่า อาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน ฯ
-
กิจในอริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ?
ตอบ กิจในอริยสัจ ๔ ได้แก่
๑) ปริญญา กำหนดรู้ทุกขสัจ
๒) ปหานะ ละสมุทัยสัจ
๓) สัจฉิกรณะ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ
๔) ภาวนา ทำมัคคสัจให้เกิด ฯ
-
อปัสเสนธรรม ข้อว่า “พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง” ของอย่างหนึ่งนั้นคืออะไร ?
ตอบ ของอย่างหนึ่ง คือ อกุศลวิตกอันสัมปยุตด้วย กาม พยาบาท วิหิงสา ฯ
-
เมตตา มีความหมายว่าอย่างไร ? เมตตาในพรหมวิหารและในอัปปมัญญา ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ เมตตา หมายถึง ปรารถนาความสุขความเจริญต่อผู้อื่นด้วยความจริงใจ ฯ
ต่างกันโดยวิธีแผ่ คือ
๑) แผ่โดยเจาะจงก็ดี โดยไม่เจาะจงก็ดี จัดเป็นพรหมวิหาร
๒) ถ้าแผ่โดยไม่เจาะจงไม่จำกัด จัดเป็นอัปปมัญญา ฯ
-
สังวรคืออะไร ? สติสังวรสำรวมด้วยสตินั้น มีอธิบายอย่างไร ?
ตอบ สังวร คือการสำรวมระวังปิดกั้นอกุศล ฯ
สติสังวร อธิบายว่า สำรวมอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ระวังรักษามิให้อกุศลกรรมเข้าครอบงำ เมื่อเห็นรูปเป็นต้น ทั้งมีสติไม่หลงลืม ระลึกได้ก่อนแต่ทำ พูด คิด ไม่ให้ผิดทางกาย วาจา ใจ ไม่ประมาทหลงทำกรรมชั่ว ฯ
-
ในวิมุตติ ๕ วิมุตติอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตตระ ?
ตอบ ตทังควิมุตติ และ วิกขัมภนวิมุตติ จัดเป็นโลกิยะ
สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ จัดเป็นโลกุตตระ ฯ
-
จริต คือ อะไร ? คนมีปกติเชื่อง่ายเป็นจริตอะไร ?
ตอบ จริต คือ พื้นเพอัธยาศัยของบุคคลที่แสดงออกมาตามปกติเป็นประจำ ฯ
คนมีปกติเชื่อง่ายเป็น สัทธาจริต ฯ
-
คนมีปกติรักสวยรักงาม จัดเป็นจริตอะไร ? จะพึงแก้ได้ด้วยการพิจารณากรรมฐานข้อใดได้บ้าง ?
ตอบ คนมีปกติรักสวยรักงาม จัดเป็นราคจริต ฯ
จะพึงแก้ได้ด้วยการพิจารณา กายคตาสติ หรือ อสุภกรรมฐาน ฯ
-
อนุสัย หมายถึงกิเลสประเภทไหน ? ได้ชื่อเช่นนั้นเพราะเหตุไร ?
ตอบ อนุสัย หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ฯ
ได้ชื่อว่าอนุสัย เพราะกิเลสชนิดนี้บางทีไม่ปรากฏ แต่เมื่อมีอารมณ์มายั่ว ย่อมเกิดขึ้นในทันใด ฯ
-
กิเลสที่ได้ชื่อว่า อนุสัย และ ได้ชื่อว่าสังโยชน์ มีอธิบายอย่างไร ?
ตอบ กิเลสที่ได้ชื่อว่า อนุสัย เพราะเป็นกิเลสอย่างละเอียด นอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์มักไม่ปรากฏ ต่อเมื่อมีอารมณ์มายั่วจึงปรากฏขึ้น
กิเลสที่ได้ชื่อว่า สังโยชน์ เพราะเป็นกิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้กับภพไม่ให้หลุดพ้น ไปได้
-
ในอวิชชา ๘ ข้อที่ว่า ไม่รู้จักอนาคต มีอธิบายว่าอย่างไร ?
ตอบ ข้อที่ว่า ไม่รู้จักอนาคต มีอธิบายว่า ไม่รู้จักคิดล่วงหน้า ไม่อาจปรารภการที่ทำ หรือเหตุอันเกิดขึ้นในปัจจุบันว่าจักมีผลเป็นอย่างนั้น ๆ ฯ
-
พระพุทธคุณ บทว่า อรหํ แปลว่าอย่างไรได้บ้าง ?
ตอบ อรหํ แปลว่า
๑. เป็นผู้เว้นไกลจากกิเลสและบาปกรรม
๒. เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร
๓. เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนเขา
๔. เป็นผู้ควรรับความเคารพนับถือของเขา
๕. เป็นผู้ไม่มีข้อลับ ไม่ได้ทำความเสียหายอันจะพึงซ่อนเพื่อมิให้คนอื่นรู้ ฯ
-
พุทธคุณ ๒ ก็มี พุทธคุณ ๓ ก็มี พุทธคุณ ๙ ก็มี จงแจกแจง แต่ละอย่างว่ามีอะไรบ้าง ?
ตอบ พุทธคุณ ๒ คือ อัตตหิตสมบัติ ความถึงแห่งประโยชน์ตน และปรหิตปฏิบัติ การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
พุทธคุณ ๓ คือ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ
พุทธคุณ ๙ คือ อรหํ , สมฺมาสมฺพุทฺโธ, วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน, สุคโต, โลกวิทู, อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ, สตฺถา เทวมนุสฺสานํ , พุทฺโธ, ภควา ฯ
-
คำว่า พระสงฆ์ ในบทสังฆคุณนั้น ท่านประสงค์บุคคลเช่นไร ? จงจำแนกมาดู
ตอบ ท่านประสงค์พระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล ซึ่งล้วนแต่ท่านผู้ที่ตั้งอยู่ในมรรคผลทั้งสิ้น จำแนกได้ดังนี้
พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล คู่ ๑
พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล คู่ ๑
พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล คู่ ๑
พระอรหัตมรรค พระอรหัตตผล คู่ ๑ ฯ
-
บารมี คืออะไร ? ทำอย่างไร เรียกว่าอธิษฐานบารมี ?
ตอบ บารมี คือ ปฏิปทาอันยิ่งยวด หรือคุณธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่งยวด ได้แก่ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ฯ
ทำอย่างนี้คือ ความตั้งใจมั่นตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ เรียกว่า อธิษฐานบารมี ฯ
-
ครุกรรม คืออะไร ? อนันตริยกรรม กับ สมาบัติ ๘ เป็นครุกรรมฝ่ายกุศลหรืออกุศล ?
ตอบ ครุกรรม คือ กรรมหนัก ฯ
อนันตริยกรรม เป็นครุกรรมฝ่ายอกุศล
ส่วนสมาบัติ ๘ เป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ฯ
-
ในกรรม ๑๒ อุปัตถัมภกกรรม กับอุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ อุปัตถัมภกกรรม ทำหน้าที่สนับสนุนผลแห่งชนกกรรม
อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม ฯ
-
ธุดงค์ คืออะไร ? มีกี่หมวด ? หมวดไหนว่าด้วยเรื่องอะไร ?
ตอบ ธุดงค์ คือ วัตตจริยาพิเศษอย่างหนึ่ง เป็นอุบายขัดเกลากิเลสและเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ มี ๔ หมวด ฯ ดังนี้
หมวดที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องจีวร
หมวดที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องบิณฑบาต
หมวดที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ
หมวดที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องความเพียร ฯ
-
ธุดงค์ ท่านบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? ภิกษุผู้ถือบิณฑบาต เป็นวัตรอย่างเคร่ง ท่านให้ถือปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบ เพื่อประโยชน์คือเป็นอุบายขัดเกลากิเลสและเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ
ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรอย่างเคร่ง คือ เมื่อเลิกบิณฑบาต นั่งลงแล้ว แม้มีผู้มาใส่บาตรอีก ก็ไม่รับ ฯ