เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นตรี วิชาวินัยบัญญัติ ปีพ.ศ.๒๕๖๖

เก็งข้อสอบวิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.๒๕๖๖



  1. พระวินัย คืออะไร ? ภิกษุรักษาพระวินัยดีแล้วย่อมได้ อานิสงส์อย่างไร ?
    ตอบ พระวินัย คือ พระพุทธบัญญัติและอภิสมาจาร ฯ
    ย่อมได้อานิสงส์ คือไม่ต้องเดือดร้อนใจ ได้รับความแช่มชื่นว่าได้ประพฤติดีงาม จะเข้าหมู่ภิกษุผู้มีศีลก็องอาจไม่สะทกสะท้าน ฯ
  2. นิสสัย และ อกรณียกิจ คืออะไร ? ทั้ง ๒ อย่างรวมเรียกว่าอะไร ?
    ตอบ นิสสัย คือปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต อกรณียกิจ คือกิจที่บรรพชิตไม่ควรทำ ฯ
    ทั้ง ๒ อย่าง รวมเรียกว่า อนุศาสน์ ฯ
  3. สิกขา กับ สิกขาบท ต่างกันอย่างไร ?
    ตอบ ต่างกันอย่างนี้
    สิกขา ได้แก่ข้อที่ควรศึกษา คือศีล สมาธิ และปัญญา
    สิกขาบท ได้แก่พระบัญญัติมาตราหนึ่ง ๆ ฯ
  4. ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่ามีศีล ?
    ตอบ ภิกษุสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย เว้นข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต จึงชื่อว่ามีศีล ฯ
  5. อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติมีอะไรบ้าง ?
    ตอบ มี ต้องด้วยไม่ละอาย ๑
    ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ ๑
    ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำ ๑
    ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ๑
    ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ๑
    ต้องด้วยลืมสติ ๑
  6. ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?
    ตอบ เรียกว่า นิสสัย ฯ มี ๔ คือ
    ๑) เที่ยวบิณฑบาต
    ๒) นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
    ๓) อยู่โคนต้นไม้
    ๔) ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ฯ
  7. ผู้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาดีแล้ว จะได้รับประโยชน์อย่างไร ?
    ตอบ ย่อมได้รับประโยชน์ คือ
    ปฏิบัติศีล ทำให้เป็นผู้มีกาย วาจา เรียบร้อย
    ปฏิบัติสมาธิ ทำให้ใจสงบมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน
    ปฏิบัติปัญญา ทำให้รอบรู้ในกองสังขาร ฯ
  8. พูดอย่างไรเรียกว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม ?
    ตอบ พูดอวดคุณพิเศษอันยิ่งของมนุษย์ เช่น ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน เรียกว่า อวดอุตตริ มนุสสธรรม ฯ
  9. ภิกษุทำคนอื่นให้ถึงแก่ความตาย ต้องอาบัติอะไร หรือไม่ ?
    ตอบ ถ้าไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ แต่ถ้าจงใจประสงค์จะให้เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก ฯ
  10. ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องอนุปสัมบัน ต้องอาบัติอะไร ?
    ตอบ จับต้องอนุปสัมบันที่เป็นหญิง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส จับต้องอนุปสัมบันที่เป็นบัณเฑาะก์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย จับต้องอนุปสัมบันที่เป็นชาย ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
  11. เภสัช ๕ ได้แก่อะไรบ้าง ? น้ำตาลทรายจัดอยู่ในข้อใด ?
    ตอบ เภสัช ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ฯ น้ำตาลทราย จัดเข้าในน้ำอ้อย ฯ
  12. ผ้าไตรจีวร ที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุอธิษฐานไว้ใช้มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
    ตอบ ที่ทรงอนุญาตมี ๓ อย่าง ฯ คือ
    ๑. สังฆาฏิ (ผ้าคลุม)
    ๒. อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม)
    ๓. อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ฯ
  13. ภิกษุนำเก้าอี้ของสงฆ์ไปใช้ในที่แจ้ง เมื่อหลีกไปจากที่นั้นพึงปฏิบัติอย่างไร ? ถ้าไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ต้องอาบัติอะไร ?
    ตอบ พึงเก็บเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเก็บ หรือมอบหมายแก่ผู้อื่น ฯ
    ถ้าไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ
  14. พูดอย่างไร ชื่อว่าส่อเสียดภิกษุ ? ภิกษุพูดอย่างนั้นต้องอาบัติอะไร ?
    ตอบ เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยประสงค์จะให้เขารักตน หรือให้เขาแตกกัน ชื่อว่าส่อเสียดภิกษุ ฯ
    ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ
  15. ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่นแก่อนุปสัมบันเป็นอาบัติอะไรหรือไม่ ?
    ตอบ ถ้าได้รับสมมติไว้ ไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าไม่ได้รับสมมติเป็นอาบัติปาจิตตีย์ตามสิกขาบทที่ ๙ แห่งมุสาทวรรค ฯ
  16. คำว่า “ภิกษุประทุษร้ายตระกูล” ในสิกขาบทที่ ๑๓ แห่งสังฆาทิเสส หมายถึงการทำอย่างไร ?
    ตอบ หมายถึง การที่ภิกษุประจบคฤหัสถ์ ยอมตนให้เขาใช้สอย เช่น เดินส่งข่าวให้เขาเป็นต้น หรือโดยให้สิ่งของเล็กน้อยด้วยหวังได้มาก ฯ
  17. จีวร ผ้านิสีทนะ อังสะ ผ้าเช็ดหน้า ย่ามผ้า เมื่อจะใช้สอย อย่างไหนควรพินทุอย่างไหนไม่ควร ? เพราะเหตุใด ?
    ตอบ จีวรและอังสะ ควรพินทุ เพราะใช้ห่ม ผ้านิสีทนะ ผ้าเช็ดหน้า และย่ามผ้า ไม่ต้องพินทุ เพราะไม่ได้ใช้นุ่งห่ม ฯ
  18. ไตรจีวร มีอะไรบ้าง ? ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง ต้องอาบัติอะไร ?
    ตอบ มี ๓ อย่าง คือ สังฆาฏิ คือผ้าคลุม อุตตราสงค์ คือผ้าห่ม และ อันตรวาสก คือผ้านุ่ง ฯ
    ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ฯ
  19. ภิกษุเข้าบ้านในเวลาวิกาล โดยไม่บอกลาภิกษุอื่นที่มีอยู่ในวัด ต้องอาบัติอะไรหรือไม่ ?
    ตอบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีกิจรีบด่วน ฯ
  20. ภิกษุซ่อนบาตร จีวร ร่ม และรองเท้าของเพื่อนภิกษุเพื่อล้อเล่นต้องอาบัติอะไรบ้าง ?
    ตอบ ซ่อนบาตร จีวร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    ซ่อนร่ม รองเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
  21. ภิกษุฉันพลางพูดพลาง จะต้องอาบัติอะไรหรือไม่ ?
    ตอบ พูดทั้งที่ยังมีอาหารอยู่ในปาก ต้องอาบัติทุกกฏ พูดไม่มีอาหารอยู่ในปาก ไม่ต้องอาบัติ ฯ
  22. การนุ่งเป็นปริมณฑล คือการนุ่งอย่างไร ?
    ตอบ การนุ่งเป็นปริมณฑล คือ นุ่งเบื้องบนปิดสะดือแต่ไม่ถึงกระโจมอก เบื้องล่างปิดหัวเข่าทั้ง ๒ ลงมาเพียงครึ่งแข้ง ไม่คลุมข้อเท้า ฯ
  23. เสขิยวัตร คืออะไร ? ภิกษุไม่ปฏิบัติตามต้องอาบัติอะไร ?
    ตอบ เสขิยวัตร คือ ธรรมเนียมที่ภิกษุต้องศึกษา ฯ ต้องอาบัติทุกกฎ ฯ
  24. ภิกษุเถียงกันด้วยเรื่องอะไร จึงเรียกว่า วิวาทาธิกรณ์ ?
    ตอบ ภิกษุเถียงกันด้วยเรื่อง สิ่งนั้นเป็นธรรมเป็นวินัย สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย เป็นต้น ฯ
  25. อธิกรณ์ อธิกรณสมณะ คืออะไร ?
    ตอบ อธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ ฯ
    อธิกรณสมถะ คือ ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์ฯ
  26. อธิกรณ์ คืออะไร ? เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องทำอย่างไร ?
    ตอบ อธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ ฯ
    เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องระงับด้วยอธิกรณสมถะอย่างใดอย่างหนึ่ตามสมควรแก่อธิกรณ์นั้น ๆ
  27. วิวาทาธิกรณ์ กับ อนุวาทาธิกรณ์ ต่างกันอย่างไร ?
    ตอบ วิวาทาธิกรณ์ คือ การเถียงว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมเป็นวินัยสิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย
    ส่วนอนุวาทาธิกรณ์ คือการโจทกันด้วยอาบัติ ฯ
  28. ข้อว่า เราจักบิณฑบาตโดยเคารพ นั้นมีธิบายอย่างไร ?
    ตอบ มีอธิบายว่า รับโดยแสดงความเอื้อเฟื้อในบุคคลผู้ให้ ไม่ดูหมิ่น และให้แสดงความเอื้อเฟื้อในของที่เขาให้ ไม่ทำดังรับเอามาเล่นหรือเอามาทิ้งเสีย ฯ
  29. การตัดสินอธิกรณ์ตามเสียงข้างมากเรียกว่าอะไร ?
    ตอบ การตัดสินด้วยเสียงข้างมาก เรียกว่า เยภุยยสิกา ฯ
  30. พระศาสดาทรงบัญญัติพระวินัยไว้เพื่ออะไร ?
    ตอบ เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายของภิกษุสงฆ์ และเพื่อชักนำความประพฤติของภิกษุสงฆ์ให้ดีงาม ฯ