เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก วิชาวินัยบัญญัติ ปีพ.ศ.๒๕๖๖
-
ภิกษุผู้ปรารถนาความตั้งอยู่ยั่งยืนของพระธรรมวินัย ควรปฏิบัติตนอย่างไร ?
ตอบ ควรตั้งอยู่ใน สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา และลัชชีธรรม สำรวมในพระปาติโมกข์ ประกอบด้วยอาจาระและโคจระ เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สำเหนียกศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ฯ -
สังฆกรรมมีอะไรบ้าง ? สังฆกรรมอะไรที่สงฆ์จตุวรรคทำไม่ได้ ?
ตอบ สังฆกรรม มี
๑) อปโลกนกรรม
๒) ญัตติกรรม
๓) ญัตติทุติยกรรม
๔) ญัตติจตุตถกรรม ฯ
สังฆกรรมที่สงฆ์จตุวรรคทำไม่ได้ ได้แก่ ปวารณา, ให้ผ้ากฐิน, อุปสมบท และ อัพภาน สงฆ์จตุวรรคทำไม่ได้ ฯ -
ญัตติและอนุสาวนา หมายถึงอะไร ? ญัตติมีใช้ในสังฆกรรมอะไรบ้าง ?
ตอบ ญัตติ หมายถึง คำเผดียงสงฆ์
อนุสาวนา หมายถึง การสวดประกาศคำปรึกษาและข้อตกลงของสงฆ์ ฯ
ญัตติมีใช้ใน ๓ สังฆกรรม คือ
๑) ญัตติกรรม
๒) ญัตติทุติยกรรม
๓) ญัตติจตุตถกรรม ฯ -
สีมา คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ?
ตอบ สีมา คือ เขตประชุมของสงฆ์ผู้ทำสังฆกรรม ฯ
มีความสำคัญ เพื่อจะกำหนดรู้เขตประชุมแห่งสงฆ์ที่ประชุมกันทำสังฆกรรม มีการให้อุปสมบทแก่กุลบุตรเป็นตน้ ที่พระศาสดาทรงอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ฯ -
สีมามีกี่ประเภท ? วิสุงคามสีมา จัดเข้าในประเภทไหน ?
ตอบ สีมา มี ๒ ประเภท คือ
๑) พัทธสีมา
๒) อพัทธสีมา ฯ
วิสุงคามสีมา จัดเข้าในประเภทดังนี้
เมื่อสงฆ์ยังไม่ผูก จัดเป็น อพัทธสีมา
ครั้นสงฆ์ผูกแล้ว จัดเป็น พัทธสีมา ฯ -
สีมาสังกระ คืออะไร ? สงฆ์จะทำสังฆกรรมในสีมาเช่นนั้นได้หรือไม่อย่างไร ?
ตอบ สีมาสังกระ คือ สีมาที่สมมติคาบเกี่ยวกันระหว่างสีมาที่สมมติไว้เดิมและสีมาที่สมมติขึ้นใหม่ ฯ
สงฆ์จะทำสังฆกรรมในสีมาที่สมมติไว้เดิมได้ แต่ทำในสีมาที่สมมติขึ้นใหม่ไม่ได้ ฯ -
คำว่า “เจ้าอธิการ” ในพระวินัยหมายถึงใคร ? มีกี่แผนก ? อะไรบ้าง ?
ตอบ เจ้าอธิการ หมายถึง ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นหน้าที่ทำกิจการของสงฆ์ ฯ
มี ๕ แผนก ฯ ได้แก่
๑) เจ้าอธิการแห่งจีวร
๒) เจ้าอธิการแห่งอาหาร
๓) เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ
๔) เจ้าอธิการแห่งอาราม
๕) เจ้าอธิการแห่งคลัง ฯ -
ภิกษุผู้ควรได้รับสมมติให้เป็นภัตตุทเทสกะ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นไร ?
ตอบ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้คือ
๑. เว้นอคติ ๔ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
๒. รู้จักภัตรที่ควรแจก หรือมิควรแจก
๓. รู้จักลำดับที่พึงแจก ฯ -
กฐิน มีชื่อมาจากอะไร ? ผ้าที่เป็นกฐินได้มีอะไรบ้าง ?
ตอบ กฐิน มีชื่อมาจากไม้สะดึงที่ลาดหรือกางออกสำหรับขึงจีวรเพื่อเย็บ ฯ
ผ้าที่เป็นกฐินได้ มีดังนี้
๑) ผ้าใหม่
๒) ผ้าเทียมใหม่ คือผ้าฟอกสะอาดแล้ว
๓) ผ้าเก่า
๔) ผ้าบังสุกุล
๕) ผ้าที่ตกตามร้านตลาดซึ่งเขานำมาถวายสงฆ์ ฯ -
ผ้าที่ไม่ทรงอนุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐิน ได้แก่ผ้าเช่นไรบ้าง ?
ตอบ ผ้าที่ไม่ทรงอนุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐิน คือ
๑. ผ้าที่ไม่ได้เป็นสิทธิ์ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามา
๒. ผ้าที่ได้มาโดยอาการอันมิชอบ คือ ทำนิมิตได้มา พูดเลียบเคียงได้มา และผ้าเป็นนิสสัคคีย์
๓. ผ้าที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ แต่เก็บค้างคืนไว้ ฯ -
กรานกฐิน ได้แก่การทําอย่างไร ?
ตอบ กรานกฐิน ได้แก่ เมื่อมีผ้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ในเดือนท้ายฤดูฝน พอจะทําเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ สงฆ์พร้อมใจกันยกให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ เหมาะสม ภิกษุผู้ได้รับผ้านั้น นําไปทําเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ให้แล้วเสร็จในวันนั้น แล้วมาบอกแก่ภิกษุผู้ยกผ้านั้นให้เพื่ออนุโมทนา ภิกษุ เหล่านั้นอนุโมทนา ทั้งหมดนี้คือ กรานกฐิน ฯ -
ผู้จะเข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
ตอบ ผู้จะเข้ามาอุปสมบทต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ
๑. เป็นชาย
๒. มีอายุครบ ๒๐ ปี
๓. ไม่เป็นมนุษย์วิบัติ เช่น ถูกตอน หรือเป็นกะเทย เป็นต้น
๔. ไม่เคยทำอนันตริยกรรม
๕. ไม่เคยต้องปาราชิก หรือไม่เคยเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งที่เป็นภิกษุ ฯ -
ในอุปสมบทกรรม อภัพพบุคคล หมายถึงใคร ? จำแนกโดยประเภทมีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?
ตอบ อภัพพบุคคล หมายถึง บุคคลที่ทรงห้ามไม่ให้อุปสมบท ฯ
จำแนกโดยประเภทมี ๓ ประเภท ได้แก่
๑) เพศบกพร่อง
๒) ประพฤติผิดพระธรรมวินัย
๓) ประพฤติผิดต่อกำเนิดของเขาเอง ฯ -
ญัตติ กับ อนุสาวนา ต่างกันอย่างไร ? มีใช้ในสังฆกรรมอะไรบ้าง ?
ตอบ ญัตติ คือ การเผดียงสงฆ์
อนุสาวนา คือ การประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ ฯ
ญัตติมีใช้ใน ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม
อนุสาวนามีใช้เฉพาะใน ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม ฯ -
การบอกนิสสัย ๔ และ อกรณียะ ๔ บอกในเวลาใด ? และใครเป็นผู้บอก ?
ตอบ ท่านให้บอกในลำดับแห่งอุปสมบทแล้ว ห้ามไม่ให้บอกก่อนหน้าอุปสมบท ฯ
อุปัชฌายะบอกก็ได้ กรรมวาจาจารย์หรืออนุสาวนาจารย์บอกก็ได้ ฯ -
ภิกษุผู้ก่อวิวาทาธิกรณ์ อย่างไรชื่อว่าปรารถนาดี อย่างไรชื่อว่าปรารถนาเลว ?
ตอบ ผู้ก่อวิวาทเพราะเห็นแก่พระธรรมวินัย (ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ) ชื่อว่า ทำด้วยปรารถนาดี
ผู้ก่อวิวาทด้วยทิฐิมานะแม้รู้ว่าผิดก็ขืนทำ (ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ) ชื่อว่า ทำด้วยปรารถนาเลว ฯ -
สัมมุขาวินัยมีองค์เท่าไร ? อะไรบ้าง ?
ตอบ มีองค์ ๔ ฯ คือ
๑) ในที่พร้อมหน้าสงฆ์
๒) ในที่พร้อมหน้าธรรม
๓) ในที่พร้อมหน้าวินัย
๔) ในที่พร้อมหน้าบุคคล ฯ -
พระอรรถกถาจารย์แสดงลักษณะปกปิดอาบัติสังฆาทิเสสไว้เป็น ๕ คู่ อย่างไรบ้าง ?
ตอบ แสดงไว้ ๕ คู่ ดังนี้
๑. เป็นอาบัติ และรู้ว่าเป็นอาบัติ
๒. เป็นปกตัตตะ และรู้ว่าเป็นปกตัตตะ
๓. ไม่มีอันตราย และรู้ว่าไม่มีอันตราย
๔. อาจอยู่ และรู้ว่าอาจอยู่
๕. ใคร่จะปิด และปิดไว้ ฯ -
รัตติเฉท หมายถึงอะไร ? มีอะไรบ้าง ?
ตอบ รัตติเฉท หมายถึง การขาดราตรีแห่ง (การประพฤติ) มานัต ฯ มี
๑) อยู่ร่วม
๒) อยู่ปราศ
๓) ไม่บอก
๔) ประพฤติในคณะอันพร่อง ฯ -
วุฏฐานวิธี แปลว่าอะไร ? ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
ตอบ วุฏฐานวิธี แปลว่า ระเบียบเป็นเครื่องออกจากอาบัติ ฯ
ประกอบด้วย ปริวาส มานัต ปฏิกัสสนา และ อัพภาน ฯ -
จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ ก. ปริวาส ข. อัพภาน ฯ
ตอบ ปริวาส ได้แก่ การประพฤติวัตรพิเศษอย่างหนึ่งเท่าจำนวนวันที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติ สังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ฯ
อัพภาน ได้แก่ การที่สงฆ์สวดระงบัอาบัติสังฆาทิเสส ฯ -
อุกเขปนียกรรม และ นิยสกรรม สงฆ์พึงลงแก่ภิกษุเช่นไร ?
ตอบ อุกเขปนียกรรม พึงลงแก่ภิกษุไม่เห็นอาบัติผู้ไม่ทำคืนอาบัติหรือผู้ไม่สละทิฏฐิบาป
นิยสกรรม พึงลงแก่ภิกษุผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีอันไม่ควร ฯ -
ในทางพระวินัย "การคว่ำบาตร" หมายถึงอะไร ?
ตอบ การคว่ำบาตร หมายถึง การไม่ให้คบหาสมาคมด้วย
ลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑) ไม่รับบิณฑบาตของเขา
๒) ไม่รับนิมนต์ของเขา
๓) ไม่รับไทยธรรมของเขา ฯ -
นาสนา คืออะไร ? บุคคลเช่นไรที่ทรงอนุญาตให้นาสนา ?
ตอบ นาสนา คือ การยังบุคคลผู้ไม่สมควรถือเพศภิกษุและสามเณร ให้สละเพศเสีย ฯ
บุคคลที่ทรงอนุญาตให้นาสนา มี ๓ ประเภท คือ
๑) ภิกษุต้องอันติมวัตถุแล้ว ยังปฏิญญาตนเป็นภิกษุ
๒) บุคคลผู้อุปสมบทไม่ขึ้น ได้รับอุปสมบทแต่สงฆ์
๓) สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ข้อใดข้อหนึ่ง เช่น เป็นผู้มักผลาญชีวิตสัตว์ เป็นต้น ฯ -
ภิกษุประพฤติผิดธรรมวินัยอย่างไร จึงทรงอนุญาตให้สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมได้ ?
ตอบ ภิกษุประพฤติผิดอย่างนี้ คือ ไม่เห็นอาบัติ ไม่ทําคืนอาบัติ หรือ ไม่สละทิฏฐิบาป ฯ -
เจ้าอาวาส ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ ใครเป็นผู้แต่งตั้ง ?
ตอบ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามมติมหาเถรสมาคม เจ้าคณะจังหวัด แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ฯ -
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาตรา ๓๗ ระบุหน้าที่เจ้าอาวาสไว้กี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
ตอบ ระบุไว้ ๔ อย่าง ฯ คือ
๑. บํารุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
๒. ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพํานักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือ คําสั่งของมหาเถรสมาคม
๓. เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
๔. ให้ความสะดวกตามสมควรในการบําเพ็ญกุศล ฯ -
กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่งเมื่อใด ?
ตอบ พ้นเมื่อ
๑. มรณภาพ
๒. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
๓. ลาออก
๔. สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก
๕. อยู่ครบวาระ ๒ ปี ฯ -
องค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด เรียกว่าอะไร ? มีกําหนดองค์ประกอบไว้อย่างไรบ้าง ?
ตอบ องค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด เรียกว่า มหาเถรสมาคม ฯ
มีกําหนดองค์ประกอบไว้ดังนี้ สมเด็จพระสังฆราชทรงดํารงตําแหน่งประธานกรรมการโดยตําแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการ โดยตําแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจํานวนไม่เกิน ๑๒ รูป เป็นกรรมการ ฯ -
ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่นอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก มีโทษอย่างไร ?
ตอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯ
Tags:
เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก
เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก 2566
เก็งข้อสอบวิชาธรรมวิจารณ์ชั้นเอก
น.ธ.ชั้นเอก