เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นโท วิชาวินัยบัญญัติ ปีพ.ศ.๒๕๖๖

เก็งข้อสอบวิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นโท พ.ศ.๒๕๖๖


  1. พระวินัยแบ่งออกเป็นกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
    ตอบ พระวินัยแบ่งเป็น ๒ ประการ ได้แก่
    ๑) อาทิพรหมจริยกาสิกขา
    ๒) อภิสมาจาริกาสิกขา ฯ
  2. อภิสมาจารคืออะไร ? ภิกษุผู้ไม่เอื้อเฟื้อในอภิสมาจารมีโทษอย่างไรบ้าง ?
    ตอบ อภิสมาจาร คือขนบธรรมเนียมอันดีงามของภิกษุ ฯ
    มีโทษปรับอาบัติถุลลัจจัยเป็นอย่างสูง แต่มีน้อย ส่วนมากปรับอาบัติทุกกฏเป็นพื้น ฯ
  3. ภิกษุผู้ปฏิบัติพระวินัยส่วนอภิสมาจารให้ดีงาม จะต้องปฏิบัติอย่างไร ?
    ตอบ ต้องปฏิบัติโดยสายกลาง คือไม่ถือเคร่งครัดอย่างงมงาย จนเป็นเหตุทำตนให้ลำบาก เพราะเหตุธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ อันขัดต่อกาลเทศะ และไม่สะเพร่ามักง่ายละเลยต่อธรรมเนียมของภิกษุ จนถึงทำตนให้เป็นคนเลวทราม ฯ
  4. ในกายบริหาร มีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับหนวดและคิ้วไว้อย่างไร ?
    ตอบ เกี่ยวกับหนวด มีข้อปฏิบัติไว้ว่า อย่าพึงไว้หนวดไว้เครา คือ ต้องโกนเสมอ ห้ามไม่ให้แต่งหนวดและห้ามไม่ให้ตัดหนวดด้วยกรรไกร เกี่ยวกับคิ้ว ไม่ได้วางหลักปฏิบัติไว้ แต่พระสงฆ์ไทยนิยมโกนพร้อมกับผม ฯ
  5. เปลือยกายอย่างไรต้องอาบัติถุลลัจจัย ? อย่างไรต้องอาบัติทุกกฎ ?
    ตอบ เปลือยกายเป็นวัตรเอาอย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯ
    เปลือยกายทำกิจแก่กัน เช่น ไหว้ รับไหว้ ทำบริกรรม ให้ของ รับของ และเปลือยกายในเวลาฉัน ในเวลาดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
  6. การผัดหน้า ไล้หน้า ทาหน้า ทรงห้ามและทรงอนุญาตไว้ในกรณีใด ?
    ตอบ การผัดหน้า ไล้หน้า ทาหน้า ทรงห้ามเฉพาะเพื่อทำให้สวย ทรงอนุญาตในกรณีอาพาธ ฯ
  7. ผ้าสำหรับทำจีวรนุ่งห่มนั้น ทรงอนุญาตไว้กี่ชนิด ? อะไรบ้าง ?
    ตอบ ผ้าสำหรับทำจีวรมี ๖ ชนิด ฯ คือ
    ๑) โขมะ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้
    ๒) กัปปาสิกะ ผ้าทำด้วยฝ้าย
    ๓) โกเสยยะ ผ้าทำด้วยใยไหม
    ๔) กัมพละ ผ้าทำด้วยขนสัตว์ ยกเว้นผม และขนมนุษย์
    ๕) สาณะ ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน
    ๖) ภังคะ ผ้าทำด้วยของ ๕ อย่างนั้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่งปนกัน ฯ
  8. ภิกษุเช่นไร ชื่อว่า นวกะ มัชฌิมะ เถระ ?
    ตอบ นวกะ คือ ภิกษุมีพรรษาไม่ถึง ๕
    มัชฌิมะ คือ ภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๕ ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง ๑๐ ต้องประกอบด้วย คุณธรรมตามพระวินัย
    เถระ คือ ภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป ต้องประกอบด้วยคุณธรรมตามพระธรรมวินัย ฯ
  9. นิสัยระงับ กับ นิสัยมุตตกะ มีอธิบายอย่างไร ?
    ตอบ นิสัยระงับ หมายถึง การที่ภิกษุผู้ถือนิสัยขาดจากปกครอง
    นิสัยมุตตกะ หมายถึง ภิกษุผู้ได้พรรษา ๕ แล้ว และมีคุณสมบัติพอรักษาตนผู้อยู่ตามลำพังได้ ทรงพระอนุญาตให้พ้นจากนิสัย ฯ
  10. ภิกษุเช่นไรควรได้ นิสัยมุตตกะ ?
    ตอบ ภิกษุผู้ควรได้นิสัยมุตตกะ คือ
    ๑. เป็นผู้มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ สติ
    ๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ยินได้ฟังมามาก มีปัญญา
    ๓. รู้จักอาบัติมิใช่อาบัติ อาบัติเบาอาบัติหนัก จำพระปาฏิโมกข์ได้แม่นยำ ทั้งมีพรรษาพ้น ๕ ฯ
  11. ภิกษุผู้ได้ชื่อว่า วตฺตสมฺปนฺโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร วัตรคืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?
    ตอบ วัตร คือแบบอย่างอันภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ ในที่นั้น ๆ ในกิจนั้น ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ ฯ
    มี ๓ ประการ คือ
    ๑) กิจวัตร ว่าด้วยกิจอันควรทำ
    ๒) จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ
    ๓) วิธีวัตร ว่าด้วยแบบอย่าง ฯ
  12. ภิกษุผู้อาพาธควรปฏิบัติตนอย่างไร จึงไม่เป็นภาระแก่ผู้พยาบาล ?
    ตอบ ควรปฏิบัติตนให้เป็นผู้พยาบาลง่าย คือ ทำความสบายให้แก่ตน (ไม่ฉันของแสลง) รู้จักประมาณในการบริโภค ฉันยาง่าย บอกอาการไข้ตามเป็นจริงแก่ผู้พยาบาล เป็นผู้อดทนต่อทุกขเวทนา ฯ
  13. วัตถุอนามาส คืออะไร ? ภิกษุจับต้องวัตถุอนามาสนั้น ต้องอาบัติอะไรบ้าง ?
    ตอบ วัตถุอนามาส คือ สิ่งที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง ฯ
    ภิกษุจับต้องมาตุคาม เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย และทุกกฏ ตามประโยค
    จับต้องบัณเฑาะก์ ด้วยความกําหนัด เป็นอาบัติถุลลัจจัย
    นอกนั้น เป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏทั้งหมด ฯ
  14. การลุกยืนขึ้นรับ เป็นกิจที่ผู้น้อยพึงทำแก่ผู้ใหญ่ จะปฏิบัติอย่างไรจึงไม่ขัดต่อพระวินัย ?
    ตอบ การปฏิบัติที่ไม่ขัดต่อพระวินัย ได้แก่นั่งอยู่ในสำนักผู้ใหญ่ ไม่ลุกรับผู้น้อยกว่าท่าน นั่งเข้าแถวในบ้าน เข้าประชุมสงฆ์ในอาราม ไม่ลุกรับท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ฯ
  15. ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ ไปสู่อาวาสอื่น พึงประพฤติอย่างไรจึงจะถูกธรรมเนียมตามพระวินัย ?
    ตอบ พึงประพฤติดังนี้
    ๑. ทำความเคารพในท่าน
    ๒. แสดงความเกรงใจเจ้าของถิ่น
    ๓. แสดงอาการสุภาพ
    ๔. แสดงอาการสนิทสนมกับเจ้าของถิ่น
    ๕. ถ้าจะอยู่ที่นั่น ควรประพฤติให้ถูกธรรมเนียมของเจ้าของถิ่น
    ๖. ถือเสนาสนะแล้วอย่าดูดาย เอาใจใส่ชำระปัดกวาดให้หมดจด จัดตั้งเครื่องเสนาสนะให้เป็นระเบียบ ฯ
  16. ดิถีที่กำหนดให้เข้าจำพรรษาในบาลีกล่าวไว้เท่าไร ? อะไรบ้าง ?
    ตอบ กล่าวไว้ ๒ ฯ คือ
    ๑. ปุริมิกาวัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาต้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
    ๒. ปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ฯ
  17. ในวัดหนึ่งมีภิกษุอยู่กัน ๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป ๑ รูป เมื่อถึงวันอุโบสถพึงปฏิบัติอย่างไร ?
    ตอบ มีภิกษุ ๔ รูป พึงประชุมกันในอุโบสถ สวดปาติโมกข์
    มีภิกษุ ๓ รูป พึงประชุมกันทำปาริสุทธิอุโบสถ รูปหนึ่งสวดประกาศญัตติจบแล้ว แต่ละรูปพึงบอกความบริสุทธิ์ของตน
    มีภิกษุ ๒ รูป ไม่ต้องตั้งญัติติพึงบอกความบริสุทธิ์แก่กันและกัน
    มีภิกษุ ๑ รูป พึงอธิษฐาน หรือ มีภิกษุต่ำกว่า ๔ รูป จะไปทำสังฆอุโบสถกับสงฆ์ในอาวาสอื่นก็ควร ฯ
  18. สงฆ์สวดปาฏิโมกข์อยู่ ภิกษุอื่นมาถึง หรือมาถึงเมื่อสวดจบแล้ว พึงปฏิบัติอย่างไร ?
    ตอบ พึงปฏิบัติอย่างนี้ คือ
    ๑. ถ้าภิกษุมาใหม่มากกว่า ภิกษุที่ประชุมกันอยู่ต้องสวดตั้งต้นใหม่
    ๒. ถ้าเท่ากันหรือน้อยกว่า ส่วนที่สวดไปแล้วก็แล้วไป ให้ภิกษุที่มาใหม่ฟังส่วนที่ยังเหลืออยู่
    ๓. ถ้าสวดจบแล้ว จะมามากกว่าหรือน้อยกว่าก็ไม่ต้องสวดซ้ำอีก ให้ภิกษุที่มาใหม่ บอกปาริสุทธิในสำนักภิกษุผู้ฟังปาฏิโมกข์แล้ว ฯ
  19. ปวารณา คืออะไร ? มีพระพุทธานุญาตให้ทำในวันไหน ?
    ตอบ ปวารณา คือการบอกให้โอกาสแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อปรารถนาตักเตือนว่ากล่าวตนได้ ฯ
    มีพระพุทธานุญาตให้ทำ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันเต็ม ๓ เดือนแต่วันจำพรรษา ฯ
  20. อุปปถกิริยา คืออะไร ? มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
    ตอบ อุปปถกิริยา คือการทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ ฯ
    มี ๓ อย่าง ฯ ได้แก่
    ๑) อนาจาร ได้แก่ความประพฤติไม่ดีไม่งาม
    ๒) ปาปสมาจาร ได้แก่ความประพฤติเลวทราม
    ๓) อเนสนา ได้แก่ความหาเลี้ยงชีพไม่สมควร ฯ
  21. ภิกษุได้ชื่อว่า “กุลทูสโก ผู้ประทุษร้ายสกุล” เพราะประพฤติอย่างไร ?
    ตอบ ภิกษุได้ชื่อว่า “กุลทูสโก ผู้ประทุษร้ายสกุล” เพราะประพฤติให้เขาเสียศรัทธาเลื่อมใส คือ เป็นผู้ประจบเขาด้วยกิริยาทำตนอย่างคฤหัสถ์ ยอมตนให้เขาใช้สอย หรือด้วยอาการเอาเปรียบ โดยเชิงให้สิ่งของเล็กน้อย ด้วยหวังได้มาก ฯ
  22. อเนสนา ได้แก่อะไร ? มีอะไรบ้าง ?
    ตอบอเนสนา ได้แก่ กิริยาแสวงหาเลี้ยงชีพในทางไม่สมควร ฯ
    มี ๒ อย่าง คือ
    ๑. การแสวงหาเป็นโลกวัชชะ มีโทษทางโลก
    ๒. การแสวงหาเป็นปัณณัตติวัชชะ มีโทษทางพระบัญญัติ ฯ
  23. ยาวกาลิก กับ ยาวชีวิก ต่างกันอย่างไร ?
    ตอบ ต่างกันอย่างนี้ คือ
    ยาวกาลิก คือของที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร บริโภคได้ชั่วคราวคือ ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ โภชนะ ๕ มี นมสด นมส้ม ของขบเคี้ยว เป็นต้น ฯ
    ยาวชีวิก เป็นของที่ให้ประกอบเป็นยา บริโภคได้เสมอไปไม่มีจำกัดเวลา แต่เมื่อมีเหตุจึงบริโภคได้ได้แก่ รากไม้ น้ำฝาดใบไม้ ผลไม้ ยางไม้ เกลือ เป็นต้น ฯ
  24. คำว่า อันโตวุฏฐะ อันโตปักกะ สามปักกะ หมายถึงอะไร ?
    ตอบ อันโตวุฏฐะ หมายถึง ยาวกาลิกที่ภิกษุเก็บไว้ในที่อยู่ของตน ฯ
    อันโตปักกะ หมายถึง ยาวกาลิกที่ภิกษุหุงต้มภายใน (ที่อยู่ของตน) ฯ
    สามปักกะ หมายถึง ยาวกาลิกที่ภิกษุทำให้สุกเอง ฯ
  25. ภัณฑะของภิกษุผู้มรณภาพ จะตกเป็นของใคร ? ภิกษุผู้อุปัฏฐากจะถือเอาด้วยวิสาสะได้หรือไม่ ?
    ตอบ ภัณฑะของภิกษุผู้มรณภาพแล้วตกเป็นของสงฆ์ ฯ
    ภิกษุผู้อุปัฏฐากจะถือเอาด้วยวิสาสะไม่ได้ เพราะการจะถือเอาด้วยวิสาสะ ต้องถือเอาในเวลาที่เจ้าของภัณฑะยังมีชีวิตอยู่ ฯ
  26. สภาคาบัติ คืออาบัติเช่นไร ? ภิกษุต้องสภาคาบัติ จะพึงปฏิบัติอย่างไร ?
    ตอบ สภาคาบัติ คืออาบัติที่ภิกษุต้องวัตถุเดียวกัน เพราะล่วงละเมิดสิกขาบทเดียวกัน
    ภิกษุต้องสภาคาบัติแล้ว ห้ามไม่ให้แสดงอาบัตินั้นต่อกัน ห้ามไม่ให้รับอาบัติของกัน ให้แสดงในสำนักภิกษุอื่น
    ถ้าสงฆ์ต้องสภาคาบัติทั้งหมด ต้องส่งภิกษุรูปหนึ่งไปแสดงในที่อื่น ภิกษุที่เหลือ จึงแสดงในสำนักของภิกษุนั้น ฯ
  27. จีวรที่วิกัปไว้ เมื่อจะนำมาใช้ต้องทำอย่างไร ? ถ้าไม่ทำเช่นนั้นต้องอาบัติอะไร ?
    ตอบ จีวรที่วิกัปไว้ เมื่อจะนำมาใช้ต้องขอให้ผู้รับถอนก่อน ฯ
    ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ
  28. บุพพกรณ์และบุพพกิจ ในการทำอุโบสถสวดปาติโมกข์ ต่างกันอย่างไร ?
    ตอบ ต่างกันอย่างนี้
    บุพพกรณ์ เป็นกิจที่ภิกษุพึงทำก่อนแต่ประชุมสงฆ์ มีกวาดบริเวณที่ประชุมเป็นต้น
    ส่วนบุพพกิจ เป็นกิจที่ภิกษุพึงทำก่อนแต่สวดปาติโมกข์ มีนำปาริสุทธิของภิกษุผู้อาพาธมาเป็นต้น ฯ
  29. ดิรัจฉานวิชาไม่ดีอย่างไร พระศาสดาจึงตรัสห้ามไว้ ไม่ให้บอกไม่ให้เรียน ?
    ตอบ เป็นความรู้ที่เขาสงสัยว่าลวงหรือหลง ไม่ใช่ความรู้จริงจัง ผู้บอกเป็นผู้ลวง ผู้เรียนก็เป็นผู้หัดเพื่อจะลวงหรือเป็นผู้หลงงมงาย ฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสห้ามไว้ไม่ให้บอก ไม่ให้เรียน ฯ
  30. ภิกษุผู้ได้ชื่อว่า ประดับพระศาสนาให้รุ่งเรือง เพราะประพฤติปฏิบัติเช่นไร ? จงชี้แจง
    ตอบ ภิกษุผู้ได้ชื่อว่าประดับพระศาสนาให้รุ่งเรือง เพราะมีความประพฤติปฏิบัติ สุภาพเรียบร้อย สมบูรณ์ด้วยอภิสมาจาริกวัตร เว้นจากบุคคล และสถานที่ไม่ควร ไป คืออโคจร เป็นผู้ได้ชื่อว่า อาจารโคจรสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยมรรยาท และโคจรอันเป็นคู่กับคุณบทว่า สีลสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ฯ