เฉลยข้อสอบวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๕๖๖

เฉลยข้อสอบวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี ๒๕๖๖



ปัญหาวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี ๒๕๖๖

เฉลยปัญหาข้อสอบวิชาธรรม


  1. ธรรมอะไร สามารถคุ้มครองโลกให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้ ?
    ตอบ ธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง คือ
    ๑. หิริ ความละอายต่อบาป
    ๒. โอตตัปปะ ความกลัวต่อผลของบาป
  2. บุพพการีและกตัญญูกตเวทีได้แก่บุคคลเช่นไร ?
    ตอบ บุพพการี ได้แก่ บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
    กตัญญูกตเวที ได้แก่ บุคคลผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นทำแก่ตนแล้วทำตอบแทน ฯ
  3. รัตนะ ๓ มีอะไรบ้าง ? มีคุณอย่างไร ?
    ตอบ มี พระพุทธ ๑ พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑ ฯ
    มีคุณอย่างนี้ คือ
    ๑. พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม
    ๒. พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
    ๓. พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วสอนผู้อื่นให้กระทำตาม ฯ
  4. มูลเหตุที่ทำให้คนทำความชั่ว มีอะไรบ้าง ?
    ตอบ มี ๑. โลภะ อยากได้
    ๒. โทสะ คิดประทุษร้ายเขา
    ๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง ฯ
  5. ธาตุ ๔ มีอะไรบ้าง ? ความร้อน จัดเป็นธาตุอะไร ?
    ตอบ ธาตุ ๔ มี
    ๑) ธาตุดิน
    ๒) ธาตุน้ำ
    ๓) ธาตุไฟ
    ๔) ธาตุลม ฯ
    ความร้อน จัดเป็น ธาตุไฟ ฯ
  6. อริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ? ความไม่สบายกายไม่สบายใจ จัดเป็นอริยสัจข้อไหน ?
    ตอบ อริยสัจ ๔ มี
    ๑) ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
    ๒) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
    ๓) นิโรธ ความดับทุกข์
    ๔) มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ฯ
    จัดเป็นข้อ ๑ คือ ทุกข์ ฯ
  7. โลกธรรม ธรรมที่ครอบงำสัตวโลก ๘ อย่างนั้นมีอะไรบ้าง ?
    ตอบ โลกธรรม ๘ มี
    ๑. มีลาภ ๒. ไม่มีลาภ
    ๓. มียศ ๔. ไม่มียศ
    ๕. สรรเสริญ ๖. นินทา
    ๗. สุข ๘. ทุกข์ ฯ
  8. มิตรแท้ที่ควรคบ ๔ ประเภท มีอะไรบ้าง ?
    ตอบ มิตรแท้ที่ควรคบ มี
    ๑) มิตรมีอุปการะ
    ๒) มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข
    ๓) มิตรแนะประโยชน์
    ๔) มิตรมีความรักใคร่ ฯ
  9. อบายมุข ๔ มีอะไรบ้าง ?
    ตอบ อบายมุข ๔ มี
    ๑. ความเป็นนักเลงหญิง
    ๒. ความเป็นนักเลงสุรา
    ๓. ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
    ๔. ความคบคนชั่วเป็นมิตร ฯ
  10. สังคหวัตถุ ๔ มีอะไรบ้าง ?
    ตอบ สังคหวัตถุ ๔ มี
    ๑. ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน
    ๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน
    ๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
    ๔. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว ฯ