เฉลยปัญหาข้อสอบวิชาธรรม นักธรรมชั้นโท ปีพ.ศ.๒๕๖๖
ปัญหาเฉลยข้อสอบวิชาธรรม นักธรรมชั้นโท ปีพ.ศ.๒๕๖๖
-
การพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นไตรลักษณ์ จัดเป็นกัมมัฏฐานอะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?
ตอบ จัดเป็น วิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ
มีประโยชน์ คือทำให้รู้จักสภาพที่เป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ฯ -
ราคะ โลภะ อิสสา กลิ่น รส อย่างไหนเป็นกิเลสกาม อย่างไหนเป็นวัตถุกาม ?
ตอบ ราคะ โลภะ อิสสา เป็นกิเลสกาม
กลิ่น รส เป็นวัตถุกาม ฯ
-
บุคคลผู้ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ทำด้วยความเมตตา กรุณา เป็นต้น จัดเข้าในอธิปเตยยะข้อไหน ?
ตอบ จัดเข้าใน ธัมมาธิปเตยยะ ฯ -
ปฏิปทาของพระอริยบุคคลผู้เป็นสมถะ เรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?
ตอบ เรียกว่า อริยวงศ์ ฯ มี ๔ อย่าง ได้แก่
๑) สันโดษด้วยจีวรตามมีตามเกิด
๒) สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามเกิด
๓) สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามเกิด
๔) ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล ฯ -
ทิฏฐิ อวิชชา เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า โอฆะ โยคะ อาสวะ ?
ตอบ เรียกว่า โอฆะ เพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์
เรียกว่า โยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ
เรียกว่า อาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน ฯ -
สังวรคืออะไร ? สติสังวร สำรวมด้วยสตินั้น มีอธิบายอย่างไร ?
ตอบ สังวร คือ การสำรวมระวังปิดกั้นอกุศล ฯ
มีอธิบายว่า สำรวมอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ระวังรักษามิให้อกุศลกรรมเข้าครอบงำ เมื่อเห็นรูปเป็นต้น ทั้งมีสติไม่ฟั่นเฟือนหลงลืม ระลึกได้ก่อนแต่ทำ พูด คิด ไม่ให้ผิดทางกาย วาจา ใจ ไม่ประมาทหลงทำกรรมชั่ว ฯ -
พระธรรมคุณบทว่า “เอหิปัสสิโก” มีอธิบายว่าอย่างไร ?
ตอบ มีอธิบายว่า พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถที่จะให้พิสูจน์ได้ทุกเวลา และสามารถนำไปประพฤติในชีวิตประจำวันเพื่อประโยชน์สุขได้ ฯ -
บารมี คืออะไร ? อธิษฐานบารมี คือการทำอย่างไร ?
ตอบ บารมี คือ ปฏิปทาอันยิ่งยวด หรือคุณธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่งยวด ได้แก่ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ฯ
อธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอนและดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ ฯ -
จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ ?
๑. อโหสิกรรม
๒. กตัตตากรรม
ตอบ อโหสิกรรม คือ กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว เป็นกรรมล่วงคราวแล้ว เลิกให้ผล เปรียบเหมือนพืชสิ้นยางแล้วเพาะไม่ขึ้น
กตัตตากรรม คือ กรรมสักว่าทำ ได้แก่กรรมอันทำด้วยไม่จงใจ ฯ -
ธุดงค์ ท่านบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรอย่างเคร่งท่านให้ถือปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบ เพื่อประโยชน์ คือ เป็นอุบายขัดเกลากิเลสและเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ
ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรอย่างเคร่ง คือ เมื่อเลิกบิณฑบาต นั่งลงแล้ว แม้มีผู้มาใส่บาตรอีกก็ไม่รับ ฯ