เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นตรี วิชาพุทธประวัติ ปี 2567
ติวเข้มเตรียมสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นตรี วิชาพุทธประวัติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีทั้งหมด ๓๒ ข้อดังนี้ครับ |
---|
๑. | พุทธประวัติ คืออะไร ? การเรียนรู้พุทธประวัตินั้นได้ประโยชน์อย่างไร ? |
---|---|
ต/ |
พุทธประวัติ คือ เรื่องที่พรรณนาความเป็นไปของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ ได้ประโยชน์ คือทำให้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้า และแนวทางในการดำเนินชีวิตตามพระพุทธจริยา ฯ |
๒. | พุทธประวัติ มีความสำคัญอย่างไรจึงต้องเรียนรู้ ? |
ต/ | มีความสำคัญ ในการศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา เพราะแสดงพระพุทธจริยาให้ปรากฏ ฯ |
๓. | เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จอุบัติขึ้นในวรรณะใด ? เป็นชนชาติใด ? |
ต/ |
เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จอุบัติขึ้นในวรรณะกษัตริย์ ฯ เป็นชนชาติอริยกะ ฯ |
๔. | อาฬารดาบส และอุทกดาบส มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร ? |
ต/ | อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านทั้ง ๒ ฯ |
๕. | อสิตดาบส กล่าวทำนายพระมหาบุรุษไว้ว่าอย่างไร ? |
ต/ |
กล่าวทำนายว่า มีคติเป็น ๒ คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ |
๖. | เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นคืออะไรบ้าง ? ทรงเห็นแล้วมีพระดำริอย่างไร ? |
ต/ |
เทวทูต ๔ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตายและสมณะ ฯ ทรงมีพระดำริว่า บุคคลทั่วไปถูกความเจ็บความแก่ความตาย ครอบงำ ไม่ล่วงพ้นไปได้ ถึงพระองค์เองก็มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ควรแสวงหาอุบายเครื่องพ้นทุกข์ แต่ฆราวาสเป็นที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี (ฝุ่น) บรรพชาเป็นช่องว่าง พอที่จะแสวงหาอุบายนั้น ได้ จึงน้อมพระหฤทัยไปในบรรพชา ฯ |
๗. | พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้และปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุเท่าไรบ้าง ? |
ต/ |
เสด็จออกผนวช เมื่อมีพระชนมายุ ๒๙ ปี ตรัสรู้ เมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ ปี ปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุ ๘๐ ปี ฯ |
๘. | พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน และถวายพระเพลิงในวันใด ? |
ต/ |
ประสูติ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ตรัสรู้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ แสดงปฐมเทศนา ในวันเพ็ญเดือน ๘ ปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือน ๖ ถวายพระเพลิง ในวันอัฏฐมีแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ ฯ |
๙. | ทุกรกิริยา คืออะไร ? พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยอาการอย่างไรบ้าง ? |
ต/ |
ทุกรกิริยา คือ การทรมานกายให้ลำบาก ฯ ด้วยอาการอย่างนี้ คือ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหา ทรงผ่อนกลั้นลมหายใจเข้าออก และทรงอดพระกระยาหาร ฯ |
๑๐. | การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น เพราะเหตุไร ? |
ต/ | เพราะทรงดำริว่า ทุกรกิริยาที่ทรงบำเพ็ญนั้นจะยิ่งไปกว่านี้ไม่มี แต่ก็ไม่เป็นทางให้ตรัสรู้ได้ ส่วนการบำเพ็ญเพียรทางจิตจักเป็นทางตรัสรู้ได้กระมัง แต่คนซูบผอมเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา กลับมาเสวยพระอาหารตามปกติ ฯ |
๑๑. | พระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยว่าจะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน เพราะเหตุไร ? |
ต/ | เพราะทรงระลึกถึงอุปการคุณของปัญจวัคคีย์ ว่าได้เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์ เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ฯ |
๑๒. | ปัญจวัคคีย์ ได้แก่ใครบ้าง ? ท่านเหล่านั้นอุปสมบทด้วยวิธีอะไร ? |
ต/ |
ปัญจวัคคีย์ ได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ฯ อุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ |
๑๓. | บุคคลผู้แสดงตนเป็นอุบาสก ด้วยการถึงรัตนะ ๒ และรัตนะ ๓ เป็นคนแรกคือใคร ? |
ต/ |
ผู้ถึงรัตนะ ๒ คือ ตปุสสะและภัลลิกะ ฯ ผู้ถึงรัตนะ ๓ คือ บิดาพระยสะ ฯ |
๑๔. | ปฐมสาวกและปัจฉิมสาวก คือใคร ? |
ต/ |
ปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ปัจฉิมสาวก คือ พระสุภัททะ ฯ |
๑๕. | ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมนั้น คือ เห็นว่าอย่างไร ? ได้เกิดขึ้นแก่ผู้ใดเป็นคนแรก ? |
ต/ |
เห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” ฯ ได้เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญพราหมณ์ เป็นคนแรก ฯ |
๑๖. | พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ชื่อว่า เป็นปฐมสาวกเพราะเหตุไร ? |
ต/ | เพราะได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเป็นองค์แรก ฯ |
๑๗. | เทศนากัณฑ์แรกชื่ออะไร ? พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร ? |
ต/ |
เทศนากัณฑ์แรก ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ฯ ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ฯ |
๑๘. | อนุปุพพิกถา ๕ ว่าด้วยเรื่องอะไร ? ทรงแสดงครั้งแรกแก่ใคร ? |
ต/ |
ว่าด้วยเรื่อง ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกามและอานิสงส์แห่งการออกจากกาม ฯ ทรงแสดงคร้ังแรกแก่ยสกุลบุตร ฯ |
๑๙. | ฆราวาสที่บรรลุพระอรหัตผลคนแรกคือใคร ? เพราะฟังธรรมอะไร ? |
ต/ |
คือ ยสกุลบุตร ฯ เพราะฟังอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ฯ |
๒๐. | พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระโสดาบันเพราะได้ฟังธรรมจากใคร ? ธรรมนั้นมีใจความว่าอย่างไร ? |
ต/ |
ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ฯ ธรรมนั้นมีใจความว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น ” ฯ |
๒๑. | พระพุทธเจ้าทรงเลือกแคว้นมคธเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก เพราะเหตุไร ? |
ต/ | เพราะแคว้นมคธ เป็นแคว้นใหญ่มีอำนาจและบริบูรณ์ด้วยสมบัติ มีประชาชนมาก มีเจ้าลัทธิมาก จึงทรงเลือก ฯ |
๒๒. | จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ประกอบด้วยองค์อะไรบ้าง ? |
ต/ |
ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ๑. พระสาวก ๑,๒๕๐ รูป ผู้เข้าประชุมนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ ๒. ทุกท่านล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา ๓. ไม่ได้มีการนัดหมาย ต่างมาประชุมพร้อมกันเอง ๔. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน ๓) และพระศาสดาทรงประทานพระบรมพุทโธวาท ซึ่งเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ฯ |
๒๓. | ครั้งพุทธกาลวัดเชตวันนั้น ตั้งอยู่เมืองอะไร ? ใครเป็นผู้สร้างถวาย ? |
ต/ |
ตั้งอยู่เมืองสาวัตถี ฯ คฤหบดีอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้สร้างถวาย ฯ |
๒๔. | การปลงอายุสังขารของพระพุทธองค์ ถือโดยใจความว่าอย่างไร ? |
ต/ | ถือโดยใจความว่า พระองค์ทรงปรารภถึงสังขารว่าทรงพระชราล่วงกาลผ่านไปไม่สามารถบําเพ็ญพุทธกิจต่อไปได้อีกแล้ว ฯ |
๒๕. | สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล เป็นสถานที่ให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง ? |
ต/ |
ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ ๑. ประสูติ ๒. ตรัสรู้ ๓. ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นครั้งแรก ๔. เสด็จปรินิพพาน ฯ |
๒๖. | พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชายิ่งกว่าอามิสบูชา เพราะเหตุไร ? |
ต/ | เพราะการปฏิบัติบูชานี้ ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นอยู่ได้ยาวนาน ฯ |
๒๗. | ถูปารหบุคคล คือบุคคลเช่นไร ? ได้แก่ใครบ้าง ? |
ต/ |
ถูปารหบุคคล คือ บุคคลที่ควรแก่การบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อเป็น ที่กราบไหว้สักการบูชา ฯ ได้แก่ ๑) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒) พระปัจเจกพุทธเจ้า ๓) พระอรหันตสาวก และ ๔) พระเจ้าจักรพรรดิราช ฯ |
๒๘. | วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กำหนดไว้กี่วัน ? มีวันอะไรบ้าง ? |
ต/ |
กำหนดไว้ ๔ วัน ฯ มี วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ฯ |
๒๙. | ปาฏิบุคลิกทานต่างจากสังฆทานอย่างไร ? |
ต/ |
ปาฏิบุคลิกทาน คือ ทานที่ถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฯ สังฆทาน คือ ทานที่ถวายเป็นของกลางให้สงฆ์จัดเฉลี่ยกันใช้สอย ฯ |
๓๐. | การเผดียงสงฆ์และการอาราธนา ต่างกันอย่างไร ? |
ต/ |
ต่างกันคือ
การเผดียงสงฆ์ ได้แก่ การแจ้งความประสงค์ให้สงฆ์ทราบ การอาราธนา ได้แก่ การนิมนต์พระสงฆ์ในพิธีให้ศีล สวดพระปริตร หรือ แสดงธรรม ฯ |
๓๑. | การแสดงความเคารพพระสงฆ์ มีกี่วิธี ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
การแสดงความเคารพพระ มี ๓ วิธี ฯ คือ ๑. ประนมมือ ในบาลีเรียกว่า ทำอัญชลี ๒. ไหว้ ในบาลีเรียกว่า นมัสการ ๓. กราบ ในบาลีเรียกว่า อภิวาท ฯ |
๓๒. | วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันอะไร ? วันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น ? |
ต/ |
เป็นวันอัฐมีบูชา ฯ มีเหตุการณ์สำคัญคือ เป็นวันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ฯ |